อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็น 1 ใน 10 อุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทย อยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2527 สำหรับชื่อเรียก“ศรีเทพ” นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2447
ที่นี่เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญ เนื่องจากยังมีร่องรอยหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลากว่า 800 ปี สัณนิษฐานว่าถูกทิ้งร้างไปเพราะโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้ง ในราวปีพศ. 1800-1900 ก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานมาจนเท่าถึงปัจจุบัน
อุทยานแห่งนี้ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือส่วนเมืองโบราณศรีเทพ มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ยังคงสามารถรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด มีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานปรางค์ศรีเทพเป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีโบราณสถานที่ยังมิได้มีการขุดแต่งและบูรณะประมาณ ๕๐ แห่งและส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม “มหัศจรรย์แสงสี ณ ศรีเทพ สู่มรดกโลก THE MAGICAL SI THEP to World Heritage” อวดโฉม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยแสงสีสุดตระการตา ชวนมาร่วมเปิดความมหัศจรรย์ ย้อนกาลเวลาอันรุ่งเรือง ของเมืองโบราณ ณ ดินแดนที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ ผ่าน แสง สี แห่งความศรัทธา ในวันที่ 29 สิงหาคม - 3 กันยายน 2566 นี้ มุ่งกระตุ้นการเดินทางทั้งไทยและเทศ เสริมศักยภาพเพิ่มแรงหนุนดันอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก้าวสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทยจากองค์การ UNESCO โดยได้รับเกียรติจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมพิธีเปิดงาน โดยมีรอบการแสดงไฮไลท์จัดขึ้น 4 รอบ/วัน ได้แก่ รอบที่ 1 เวลา 19.00. น./ รอบที่ 2 เวลา 19.30 น./ รอบที่ 3 เวลา 20.00 น. และรอบที่ 4 เวลา 20.30 น. ซึ่งจะเล่าขานตำนานศรีเทพจากความเชื่อสู่ความศรัทธาของผู้คนในแถบลุ่มน้ำป่าสัก จนก่อเกิดเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมและศิลปะวัฒนธรรมที่มีคุณค่า นำเสนอผ่านจอ LED ผสมผสานเทคนิคด้วยการใช้ระบบ Synchronize Lighting เชื่อมการแสดงจากจุดฉายภาพ สู่จุดการแสดงแสงไว้ด้วยกัน
ขอขอบคุณรูปจาก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ