“สุรินทร์ เมืองช้าง” ได้รับการขนานนามเช่นนี้เนื่องจาก สุรินทร์มีกลุ่มผู้เลี้ยงช้างที่เรียกตัวเองว่า “กูย” หรือ “กวย” ซึ่งเชี่ยวชาญในการจับช้างมาตั้งแต่โบราณ มีวิชาคชศาสตร์จับช้างเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน บวกกับพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะสลับป่าโปร่ง เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง โคและกระบือ ทำให้คนในพื้นที่มีช้างเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านแทบทุกหลังนั่นเอง หมู่บ้านช้างที่มีชื่อเสียงคือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ใกล้ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ปัจจุบันแม้จะไม่มีการออกจับช้างป่าแถบทิวเขาพนมดงรักและป่าแถบชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว แต่ยังคงมีหมอช้างอาวุโสที่สืบทอดภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์ท้องถิ่นและมีชีวิตอยู่
งานช้างสุรินทร์จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 เนื่องในโอกาสฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ และจัดเป็นงานประจำปีของอำเภอท่าตูม ในงานมีการแสดงขบวนแห่ช้าง การแสดงการคล้องช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็ว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก และได้มีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆในขณะนั้น ทำให้เกิดความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทาง อสท. (ททท. ในปัจจุบัน) จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุน โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกช้าง กำหนดรูปแบบการแสดงให้น่าสนใจยิ่งขึ้น งานช้างสุรินทร์ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นเป็นงานประจำปีของชาติในปี พ.ศ. 2505 จากการเสนอของ อสท.
สำหรับงานช้างสุรินทร์ปีนี้ จัดขึ้นในวันที่ 16-27 พฤศจิกายน ใครที่อยากสัมผัสช้างแบบใกล้ชิด ชมความยิ่งใหญ่ของงาน เตรียมตัวออกเดินทางได้เลย และสำหรับใครที่สนใจศึกษาเรียนรู้วิถีชาวกูย วิถีหมอช้าง สามารถพบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ หรือชมนิทรรศการที่ศูนย์คชศึกษา และการแสดงของช้าง ได้ที่หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ได้ทุกวัน